สาธารณะสุขกำชับโรงพยาบาลเลี่ยงสั่งจ่ายยากลุ่มเอ็นเสด ลดความเสี่ยง “ไข้เลือดออก” เสียชีวิต

สาธารณะสุขกำชับโรงพยาบาลเลี่ยงสั่งจ่ายยากลุ่มเอ็นเสด ลดความเสี่ยง “ไข้เลือดออก” เสียชีวิต และสถานการ์ณไข้เลือดออกไครเมียนคองโก

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับโรงพยาบาลเลี่ยงสั่งจ่ายยากลุ่มเอ็นเสดในผู้ป่วยมีอาการไข้ ห่วงเพิ่มความเสี่ยงผู้ป่วยไข้เลือดออก เสียเลือดจนช็อกและเสียชีวิต ชี้การประกาศพื้นที่ระบาด เป็นการพิจารณาของแต่ละพื้นที่หากเห็นว่าการระบาดมากจนทรัพยากรในพื้นที่ไม่เพียงพอ ต้องบูณาการการทำงาน หรือใช้งบประมาณพิเศษ

วันที่ 27 กรกฎาคม 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังนำผู้บริหารและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันทำกิจกรรม MOPH Big Cleaning Day ประจำปี 2566 ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ขณะนี้มีผู้ป่วยมากกว่า 4 หมื่นคน เสียชีวิต 40 กว่าคน เป็นกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไปมากกว่าเด็กเล็ก โดยพบว่าผู้เสียชีวิตประมาณ 10% มีการกินยาแอสไพริน หรือยาลดไข้แก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน เป็นต้น ซึ่งทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงให้เลือดออกง่ายจนช็อกและเสียชีวิต 

ดังนั้น หากมีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ปวดจุกแน่นในท้อง ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นของโรคไข้เลือดออกที่วินิจฉัยแยกจากโรคอื่นที่ได้ยาก เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคฉี่หนู ขอให้ระมัดระวังไม่ซื้อยาเหล่านี้มารับประทาน 

ทั้งนี้ ได้กำชับโรงพยาบาลและบุคลากรแล้วว่าหากผู้ป่วยมีไข้และยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ให้หลีกเลี่ยงการจ่ายยากลุ่มเอ็นเสด และหากอาการยังไม่ดีขึ้นขอให้กลับไปพบแพทย์อีกครั้ง

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับการประกาศพื้นที่ระบาดโรคไข้เลือดออกหรือโรคอื่นใด หากพื้นที่เห็นว่าการระบาดมากจนทรัพยากรในจังหวัดหรือพื้นที่นั้นไม่เพียงพอรับสถานการณ์ เช่น ขาดงบประมาณ ขาดยา ขาดบุคลากร หรือจำเป็นต้องใช้งบประมาณพิเศษ หรือต้องมีการบูรณาการพิเศษ ก็ให้เสนอเรื่องถึงอธิบดีกรมควบคุมโรคพิจารณา โดยใช้กลไกคณะกรรมการวิชาการออกประกาศ ซึ่งสามารถประกาศระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือทั้งจังหวัดก็ได้ เพื่อให้มีอำนาจในการดำเนินการควบคุมโรคมากขึ้นรวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถใช้งบประมาณ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ เนื่องจากโรคระบาดในคนถือเป็นสาธารณภัยรูปแบบหนึ่ง

นอกจากนี้นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับรายงานพบผู้ติดเชื้อโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก พื้นที่ระบาดอยู่ในประเทศแถบยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียกลาง และเอเชียใต้ 

ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้เป็นโรคติดต่ออันตราย และขอย้ำว่า โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยในประเทศไทย โรคดังกล่าวมีความแตกต่างจากโรคไข้เลือดออกที่พบผู้ป่วยในประเทศไทย ดังนี้

โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก พบรายงานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2487 ที่บริเวณแหลมไครเมียน ต่อมาเกิดการระบาดในประเทศคองโก สาเหตุเกิดจากเชื้อไนโรไวรัส (Nairovirus) เชื้อดังกล่าวพบในตัวเห็บที่อาศัยอยู่บนตัวสัตว์เท้ากลีบ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ เป็นต้น พบระบาดในประเทศในแถบแอฟริกา อเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแถบแปซิฟิกตะวันตก 

ติดต่อโดย 1. ถูกเห็บที่มีเชื้อไนโรไวรัสกัด 2. สัมผัสเลือดหรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีเชื้อ 3. สัมผัสเลือดหรือเนื้อเยื่อของผู้ป่วยไครเมียนคองโก 

เมื่อป่วยจะเริ่มด้วยอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดกล้ามเนื้อ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดท้อง อุจจาระร่วง มีภาวะเลือดคั่ง ตาอักเสบบวมแดง อาจมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง เกิดขึ้นบริเวณหน้าอกและท้องแล้วกระจายไปทั่วร่างกาย อาจมีเลือดออกที่บริเวณเหงือก จมูก ปอด มดลูก ทางเดินปัสสาวะ และทางเดินอาหาร อัตราการป่วยตายจะอยู่ที่ ร้อยละ 30-40 หากพบผู้ติดเชื้อให้แยกผู้ป่วยให้อยู่ในห้องเดี่ยว และควรเป็นห้องความดันลบ ทั้งนี้ปัจจุบันยังไม่พบรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย หากกลับจากต่างประเทศและสงสัยโรคนี้ ให้พบแพทย์และให้ประวัติการเดินทางและปัจจัยเสี่ยง

ที่มา : https://pr.moph.go.th