‘4 พิพิธภัณฑ์ลับ’ แหล่งท่องเที่ยว Unseen ที่อยากให้ทุกคนไป

มาลองชม ‘4 พิพิธภัณฑ์ลับ’ ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในพื้นที่คัดเลือกแล้วว่า เป็นแหล่งท่องเที่ยว Unseen ที่อยากให้ทุกคนไปเที่ยวชมเพื่อเปิดประสบการณ์

พิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก วัดหอก่อง จ.ยโสธร

– วันมาฆบูชาของทุกปี ชาวลุ่มแม่น้ำชีจะมีประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก หรือมาลัยขนาดใหญ่ยักษ์ที่ทำมาจากข้าวตอก หลังจากจบงานจะถูกนำมาเก็บรักษาและเปิดให้ชมที่วัดแห่งนี้

ที่มา: https://yst-pao.go.th/

สาระคือการถวายมาลัยข้าวตอกเป็นพุทธบูชาในประเพณีบุญเดือนสาม งานบุญยิ่งใหญ่ของชาวอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เรียกว่าประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก จัดขึ้นในช่วงวันมาฆบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกมาคั่วในหม้อดิน ได้ข้าวตอกสีขาวนวลใช้แทนดอกมณฑารพ เชื่อว่าเป็นดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์ นำข้าวตอกไปร้อยเป็นพวงมาลัยสาย นำมาตกแต่งให้สวยงามเป็นมาลัยขนาดใหญ่หลากหลายรูปแบบ เมื่อถวายพระแล้ว จะนำไปเก็บไว้ที่ศาลาการเปรียญของวัด

บางส่วนนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก ที่อยู่ภายในวัดหอก่อง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้เป็นสถานที่เรียนรู้และส่งต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของตำบลฟ้าหยาด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด สนับสนุนงบประมาณก่อตั้งโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร ภายในจัดแสดงตัวอย่างมาลัยข้าวตอกที่งดงามตระการตาฝีมือชั้นครู

ข้อมูลการเข้าชม

ที่อยู่: วัดหอก่อง ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร 35130

โทรศัพท์: 045711642 (อบจ.ยโสธร)

วันและเวลาทำการ:ทุกวัน เวลา 09.00 – 16.00 น

ค่าเข้าชม:ไม่เสียค่าเข้าชม

FB:https://www.facebook.com/พิพิธภัณฑ์มาลัยข้าวตอก-271691280186145/?ref=page_internal

ปีที่ก่อตั้ง:2560


อาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.อยุธยา

– พิพิธภัณฑ์ทองคำที่ใหญ่และดีที่สุดในประเทศไทย จัดแสดงเครื่องทองโบราณสมัยอยุธยามากถึง 2,000 ชิ้น

ที่มา​: https://www.finearts.go.th/

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2500  ทรงมีพระราชปรารภว่า “โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะนี้ ควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษา และตั้งแสดงให้ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ หาควรนำไปเก็บรักษาและตั้งแสดง ณ ที่อื่นไม่”  

ดังนั้นกรมศิลปากร จึงได้สร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ขึ้นเพื่อเก็บรักษา จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ รวมถึงโบราณวัตถุที่พบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  

การสร้างอาคารด้วยเงินบริจาคจากประชาชน ผู้บริจาคจะได้รับพระพิมพ์ที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นการสมนาคุณ  และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ผู้ทรงสร้างพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นชื่อพิพิธภัณฑ์

วัตถุที่จัดแสดงที่มีความสำคัญ และ สิ่งที่น่าสนใจ เช่น 

  • เศียรพระพุทธรูปสำริด ศิลปะอู่ทอง ที่ได้จากวัดธรรมิกราช
  • กลุ่มพระพุทธรูปจากต่างประเทศที่จากกรุวัดราชบูรณะ
  • เครื่องทองที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีในกรุชั้นที่ ๓ วัดราชบูรณะ 
  • พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท ปางประทานเทศนา ศิลปะทวารวดี
  • ครุฑโขนเรือไม้จำหลัก ปางกรณมุทรา ใช้เป็นหัวเรือสมัยกรุงศรีอยุธยา

ข้อมูลการเข้าชม 

ที่อยู่ : ถนนโรจนะ ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000

โทรศัพท์ : 035-241 587 / 035-244 570

โทรสาร : 035-241 587

เว็บไซต์ : http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/chaosamphraya

วันและเวลาทำการ : วันพุธ-วันอาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น.

(ปิดวันจันทร์-อังคาร วันขึ้นปีใหม่และวันสงกรานต์)

ค่าเข้าชม : ชาวไทย 30 บาท / ชาวต่างประเทศ 150 บาท

นักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ / ภิกษุสามเณรและนักบวชในศาสนาต่างๆ ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม


พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก จ.ลพบุรี

– เรียนรู้โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และมรดกทางวัฒนธรรมของชาวลพบุรี 

ที่มา: https://www.museumthailand.com/th/museum/Pasak-Museum

สาระคือ พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก เป็นส่วนหนึ่งในโครงการแก้ไขและพัฒนาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ก่อตั้งขึ้นจากงบประมาณที่กันออกมาจากงบประมาณการสร้างเขื่อนป่าสักของกรมชลประทาน ภายใต้การดูแลจัดการของกรมชลประทานร่วมกับกรมศิลปากร จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงเนื้อหาความรู้ด้านธรรมชาติ และวัฒนธรรมในพื้นที่กักเก็บน้ำเขื่อนป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

การจัดแสดงแบ่งออกเป็น 6 ส่วน

 1 “การชลประทานในประเทศไทย” เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 ด้านการชลประทานในประเทศไทย ประวัติความเป็นมาการการชลประทานของโลกและของประเทศไทย  

 2 “ย้อนรอยอารยธรรม” นำเสนอเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีของพื้นที่ 

3 “วัฒนธรรมท้องถิ่น” เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง คือชาวไทยเบิ้ง  

4  “ภูมิศาสตร์” ซึ่งจะมีข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ แหล่งน้ำลำธารที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำป่าสัก 

5  “ทรัพยากรธรรมชาติ” อันแสดงถึงความอุดมของพื้นที่ 

6 เป็นห้องฉายวิดีโอสรุปข้อมูลสาระ เพื่อให้ผู้ชมได้ทบทวนเรื่องที่ท่านได้ชมมาแล้วทั้งหมด  

ข้อมูลการเข้าชม

ที่อยู่:ในบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ บ้านแก่งเสือเต้น ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 15140

โทรศัพท์:0-3649-4031-2

วันและเวลาทำการ:เปิดทุกวัน 08.00-16.00 น.

ค่าเข้าชม:ไม่เก็บค่าเข้าชม


มิวเซียม สิงห์บุรี

– แหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของเมืองสิงห์บุรี จัดแสดงภายในอาคารศาลากลางหลังเก่า (ร.ศ.130) ที่มีเอกลักษณ์

ที่มา: Page Facebook มิวเซียมสิงห์บุรี Museum Singburi

นิทรรศการมีทั้งหมด 8 เรื่องที่จัดภายในอาคาร ได้แก่

  1. ทรัพย์เมืองสิงห์ หลักฐาน ทรัพย์เมืองสิงห์ จำนวนมากมาย คือความสำคัญของสิงห์บุรี ตั้งแต่หลายพันปีก่อนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องถึงทวารวดี สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ จนเป็นสิงห์บุรีวันนี้
  2. ทรัพย์เมืองเก่า “ชาวสิงห์บุรี” ในยุคดึกดำบรรพ์รวมกลุ่มตั้งหมู่บ้านกระจัดกระจายกันตามที่ต่าง ๆ แล้วพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดี มีการติดต่อค้าขายกับเมืองอื่น ๆ ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นหัวเมืองสำคัญของกรุงศรีอยุธยา ในยุค สิงห์ – อินทร์ – พรหม ปัจจุบันยังมีทรัพย์ที่ยืนยันความรุ่งเรืองของยุคนี้อยู่มากมายในสิงห์บุรี
  3. ทรัพย์ในดิน “เมืองเตาเผา” สิงห์บุรีเป็นเมืองอุตสาหกรรมผลิตภาชนะดินเผาขนาดยักษ์ใหญ่ มีเตาเผาจำนวนนับร้อยเตา ผลิตภาชนะดินเผาส่งขายในอยุธยา และส่งออกไปทั่วโลกไกลถึงทวีปแอฟริกา มี “ซิกเนเชอร์” สำคัญยืนยันความเป็นทรัพย์ในดินของสิงห์บุรี คือ “ไหสี่หู” ภาชนะที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากสิงห์บุรี
  4. ทรัพย์สลาย “กรุงแตก” ทำให้สิงห์บุรีที่เจริญรุ่งเรืองมานับพันปี ต้องโรยราในชั่วข้ามคืน เตาเผาถูกทิ้งร้างกลายเป็นอดีต แม้จะมีชาวสิงห์บุรีและชาวเมืองใกล้เคียงร่วมมือกัน “ปกป้องถิ่น” จนคนสุดท้ายใน “ศึกบางระจัน” แต่ไม่อาจต้านทานศึกใหญ่ครั้งนั้นได้ ทรัพย์เมืองสิงห์สลายไป พร้อม ๆ กับกรุงศรีอยุธยา
  5. ทรัพย์ทรงจำ “เมืองแฝดสาม”  สิงห์ – อินทร์ – พรหม เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ หลายครั้ง ตั้งแต่เป็นเมืองกึ่งกลางระหว่างรัฐโบราณ จนถึงเป็นเมืองลูกหลวง หลานหลวง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการยุบรวม สิงห์ – อินทร์ – พรหม เป็น “เมืองสิงห์บุรี” เมืองเดียว
  6. ทรัพย์เมืองสิงห์  “เมืองดี คนดี ของดี” เมืองสิงห์บุรี มีทรัพย์เมืองสิงห์ซุกซ่อนอยู่จำนวนมาก ทุกซอกทุกมุมของทุกหมู่บ้าน ล้วนมีเรื่องราว ให้ค้นหาที่มีความหลากหลายของผู้คน วัฒนธรรม ความเชื่อ อาหารการกิน และ “ของใหม่” ที่มีบทบาทสำคัญ เป็นทรัพย์เมืองสิงห์ในปัจจุบัน
  7. ทรัพย์ปัญญา “สิงห์บุรีโมเดล”ด้วยคลองขุด “ใยแมงมุม” ถูกคิดค้นตั้งแต่เมื่อ ๑๐๐๐ ปีก่อน เพื่อควบคุมน้ำในหน้าแล้ง และป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ที่บ้านคูเมือง อินทร์บุรี กรุงศรีอยุธยาก็ใช้โมเดลนี้ขุดคูคลองเพื่อควบคุมน้ำเช่นกัน ถือเป็นทรัพย์ปัญญาและเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการเป็นเมืองน้ำมากที่สุดแห่งหนึ่งของสยามประเทศ
  8. ทรัพย์วันหน้า  “สิงห์บุรีในฝัน” บททดสอบการออกแบบเมืองอย่างยั่งยืน ทำให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลง ความผันผวนในอนาคตได้ด้วยจินตนาการของทุก ๆ คน เพื่อสร้างบุคลิกภาพของเมืองทั้งในทาง สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ผู้คน และวัฒนธรรม ให้เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์น่าอยู่ น่าเยือน สำหรับทุกคน

ข้อมูลการเข้าชม

ที่อยู่ : ถนนวิไลจิตต์ ตำบลบางพุทรา อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี 10600

โทรศัพท์ : 036 – 699 388

อีเมล : admin@singpao.go.th

วันและเวลาทำการ : เปิดให้บริการ วันอังคาร – วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ปิดวันจันทร์)

เวลา 09.00 – 17.00 น.

ค่าเข้าชม : เข้าชมฟรี

ที่มา:

https://thai.tourismthailand.org

https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1610

https://www.museumthailand.com/th/museum/Chao-Sam-Phraya-National-Museum

https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/301

https://www.museumthailand.com/th/museum/Museum-Singburi