บลูคาร์บอน แหล่งกักเก็บคาร์บอนประสิทธิภาพสูง

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเผยแพร่บทความนรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมทางเพจเฟสบุควันที่ 27 กันยายน 2566 ดังรายละเอียดดังนี้

ทะเลเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของหลายๆ คน ที่เมื่อได้ไปสัมผัสแล้วช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายและซึมซับพลังบวกจากธรรมชาติ 

แต่รู้หรือไม่ว่าธรรมชาติที่สวยงามนี้ยังเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างดี ด้วยการเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีประสิทธิภาพสูง

โดยทั่วไปแล้วเราจะรู้ว่าป่าไม้หรือต้นไม้ที่อยู่บนบกเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนของโลก หรือที่เรียกกันกว่า กรีนคาร์บอน (Green Carbon) 

แต่มีหลายคนอาจยังไม่ค่อยรู้จักกับบลูคาร์บอน (Blue Carbon) คาร์บอนที่ถูกดูดซับและกักเก็บด้วยระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง 

ซึ่งจากข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ พบว่า คาร์บอนชีวภาพทั้งหมดที่ถูกดูดซับไว้ในโลกนี้ถูกดูดซับไว้ด้วยระบบนิเวศทางทะเลมากกว่าครึ่งหรือ 55% อีกทั้งมีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่าป่าบกถึง 4 เท่า 

ด้วยพื้นที่ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล รวมถึงระบบนิเวศทางทะเลและริมชายฝั่งอื่น ๆ ดูดซับคาร์บอนได้ดีกว่าเนื่องจากสามารถดึงคาร์บอนลงไปกักเก็บไว้ในใต้ดินได้ถึง 50 – 99 เปอร์เซ็นต์  

ส่วนแหล่งหญ้าทะเลเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุด ถึงแม้จะมีพื้นที่ไม่ถึง 0.2% ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด แต่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 10%  

แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่พ้นที่จะถูกคุกคาม ซึ่งในแต่ละปีพื้นที่หญ้าทะเลของโลกลดลงกว่า 1.5% และในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาแหล่งหญ้าทะเลทั่วโลกตายไปแล้วกว่า 29% 

สำหรับประเทศไทย พบว่า มีหญ้าทะเลถึง 12 ชนิด จาก 58 ชนิดของทั่วโลก พบอยู่ในเขตน้ำตื้นชายฝั่งทะเลรวมถึงเกาะแก่งต่างๆ ทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ครอบคลุมพื้นที่ 19 จังหวัดชายฝั่ง 

และที่สำคัญยังมีพื้นที่อีกมากกว่า 160,000 ไร่ ที่จะสามารถฟื้นฟูหญ้าทะเลให้กลับมาเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ได้ แต่จากผลสำรวจในปี 2564 พบว่ามีพื้นที่หญ้าทะเลจากฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทยมีแค่ประมาณ 99,000 ไร่เท่านั้น 

ทั้งนี้หลายหน่วยงานได้ให้ความสำคัญกับบลูคาร์บอน และได้มีการฟื้นฟู ป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แก้ปัญหาพื้นที่ชายฝั่งที่ถูกคุกคามจากสาเหตุต่างๆ รวมไปถึงได้มีการวางแผนที่จะปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต กำหนดเป้าหมาย 10 ปี (ปี2565-2574) เนื้อที่ 3 แสนไร่ ในพื้นที่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลไทย 

การตั้งเป้าหมาย Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างการปล่อยและการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยให้ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งต้องช่วยกันฟื้นฟูและเพิ่มพื้นกักเก็บคาร์บอนควบคู่กันไปกับการลดก๊าซเรือนกระจก 

โดยเฉพาะการฟื้นฟูพื้นที่บลูคาร์บอนที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนประสิทธิภาพสูง ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือธรรมชาติที่ทรงพลังในการช่วยรับมือกับปัญหาโลกร้อนหรือโลกเดือดได้เป็นอย่างดี

ที่มา :กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

Image by mrsiraphol on Freepik