ปทุมมา ไม้ดอกช่วงฤดูฝน ที่ส่งออกสู่ตลาดโลก

“ปทุมมา” จากสมุนไพร พืชอาหารในระดับท้องถิ่น สู่ไม้ตัดดอก ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี ไม้กระถาง ไม้ประดับแปลง ที่นิยมปลูกประดับ จัดตกแต่งภูมิทัศน์ 

ด้วยรูปร่างของช่อดอกที่เป็นเอกลักษณ์ สีสันที่หลากหลายของใบประดับในแต่ละพันธุ์  

มีแหล่งผลิตที่สำคัญคือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และจังหวัดเลย 

จากการที่ได้รับความสนใจมากขึ้น ผู้คนรู้จักมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อที่น่าสับสนไม่น้อยสำหรับชื่อ “ปทุมมา” กับ “กระเจียว” ที่ยังเคลือบแคลงสงสัยว่าตกลงคือพืชชนิดเดียวกันหรือไม่ ความแตกต่างของชื่อที่เรียกนั้นเรียกตามอะไร วันนี้เรามาไขข้อสงสัยนี้กัน

ปทุมมา (Patumma) เป็นไม้ดอกประเภทหัวอยู่ในวงศ์ Zingiberaceae เช่นเดียวกับ ขิง ข่า ขมิ้น หงส์เหิน และกระเจียว มีถิ่นก าเนิดอยู่ในแถบอินโดจีน ได้แก่  ประเทศพม่า ไทย ลาว และเขมร ชนิดของปทุมมาที่พบในประเทศไทย มีประมาณ 30 ชนิด ปทุมมามีลักษณะ ดอกคล้ายทิวลิป มีสีสันและรูปทรงของดอกหลากหลายจึงนิยมเรียกอีก ชื่อว่า ทิวลิปสยาม (Tulip of Siam) การผลิตปทุมมาทั่วไปสามารถ ผลิตได้ปีละครั้งอยู่ในระหว่างช่วงเดือนเมษายน-ธันวาคม เริ่มปลูกในช่วงฤดูร้อน ออกดอกในฤดูฝน และพักตัวในช่วงฤดูหนาว  

ลักษณะแรกที่เห็นได้เด่นชัดนั้นคือ ก้านช่อดอก จะสังเกตได้ว่า กลุ่มกระเจียว ก้านช่อดอกสั้น ทำให้ช่อดอกอยู่ในระดับเดียวหรือต่ำกว่าทรงพุ่ม ช่อดอกไม่ได้ชูโดดเด่นเหมือนกลุ่มปทุมมาที่มีก้านช่อดอกยาว กว่าความสูงทรงพุ่ม ลักษณะถัดมาคือ ลักษณะสีของดอก (ดอกที่เราพูดถึงนี่คือดอกจริงขนาดเล็กซึ่งอยู่ในซอกใบประดับที่มีสีสันต่างๆ ที่เรามองเห็นชัดเจนนั่นเอง) กลีบปากและกลีบสเตมิโนด (ส่วนของเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน) ของกลุ่มปทุมมามีสีขาว หรือสีม่วงแดง ส่วนในกลุ่มกระเจียวจะเป็นสีขาวหรือสีเหลือง

แต่ในภายหลังได้มีการเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์ และเพื่อตรงตามความต้องการของตลาด จึงมีการวิจัย ผสมพันธุ์ระหว่างปทุมมาพันธุ์ต่างๆ ทั้งในสกุลย่อยเดียวกัน หรือต่างสกุลย่อย ลักษณะเด่นของพืชสกุลขมิ้น (Curcuma) แต่ละกลุ่ม รวมถึงกลุ่มกระเจียวและกลุ่มปทุมมา ได้ถูกแลกเปลี่ยน สร้างสรรค์ให้เกิดพันธุ์ปทุมมาลูกผสมใหม่ๆ ขึ้นมากมาย

เวลาพูดถึงไม้ดอกที่ส่งออกของไทย คนส่วนใหญ่มักนึกถึงกล้วยไม้ น้อยคนนักจะรู้ว่าปทุมมา ก็มีบทบาทไม่น้อย และยังมีความต้องการจากต่างชาติมากขึ้นทุกปี 

ปัจจุบันปทุมมา จัดว่าเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่น่าจับตา เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ และตั้งชื่อให้ว่า สยามทิวลิป ซึ่งภายหลังดอกปทุมมาได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความสวยงามและโดดเด่นยิ่งขึ้น ทั้งไม้ตัดดอก หัวพันธุ์ และไม้กระถาง โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้จากการจําหน่ายไม้ตัดดอกมากที่สุดในโลก นั่นก็คือประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เป็น ตลาดการค้าและประมูลดอกไม้ ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของโลก

ประเทศไทยจึงส่งออกปทุมมาในรูปของหัวพันธุ์ไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีความต้องการสูงถึงปีละกว่า 3 ล้านหัว ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเป็นเงินถึง 16-29 ล้านบาท ผู้นําเข้าในประเทศเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่มักจะนําหัวพันธุ์ดอกปทุมมาไปผลิตเป็น ไม้ตัดดอกและไม้กระถาง จึงจําเป็นต้องซื้อหาหัวพันธุ์ดอกปทุมมาใหม่เพื่อใช้ปลูกทุกปี

แต่การส่งออกในรูปของดอกสดยังมีน้อยมากเนื่องจากยังขาดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวที่จะทําให้ดอกสดอยู่คงนาน รวมทั้งรูปแบบการบรรจุหีบห่อที่เหมาะสม 

ในแต่ละปีการส่งออกปทุมมา จึงเป็นไม้เศรษฐกิจชนิดใหม่ของไทย ซึ่งเป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยมีตลาดส่งออก คือ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ยุโรป ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ และนิวคาลิโดเนีย และมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับ 2 รองจากการส่งออกกล้วยไม้ 

ปัจจุบันมีปทุมมาเพียงพันธุ์เดียวคือ พันธุ์เชียงใหม่พิงค์ เป็นพันธุ์ที่ต้องการมากที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีผลผลิตอยู่ในรูปหัวพันธุ์ดอกปทุมมาประมาณ 40,000 กิโลกรัมต่อฤดูกาลผลิต และมีผลผลิตอยู่ในรูปไม้ตัดดอกปทุมมา ประมาณ 2,800,000 ดอกต่อฤดูกาล ที่เหมาะสําหรับทําการผลิตไม้ตัดดอกเชิงอุตสาหกรรม

ส่วนพันธุ์อื่นยังไม่มีคุณสมบัติที่จะนํามาทําไม้ตัดดอกได้ ดังนั้นปทุมมาพันธุ์อื่นจึงอยู่ในรูปไม้กระถาง 

สำหรับประเทศไทยที่พบว่าเป็นแหล่งผลิตปทุมมาที่สำคัญ ได้แก่ พื้นที่อำเภอสันทราย และแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 

ผู้ที่สนใจที่อยากจะเริ่มปลูกปทุมมาเพื่อส่งขายไม่ว่าจะตลาดในประเทศหรือตลาดต่างประเทศก็ถือว่ามีอนาคตที่สดใส สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิชาการและการเรียนรู้ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ 053 114 195

และตลอดช่วงฤดูฝนของทุกปี ทางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ได้รวบรวมปทุมมาที่สวยงามหลากหลายสายพันธุ์ประดับภูมิทัศน์ให้นักท่องเที่ยวทุกท่านได้เที่ยวชม ร่วมแบ่งปันความรู้สึกดีดีผ่านสวนสวยและความหลากหลายทางชีวภาพได้ที่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

ที่มาเรื่องและภาพ : อุทยานหลวงราชพฤกษ์

https://www.royalparkrajapruek.org/Knowledge/view/118