เตือนสูบบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงป่วยโรคหอบหืดสูงถึง 1.31 เท่า

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันมีข้อมูลและหลักฐานทางวิชาการยืนยันไปในทางเดียวกันแล้วว่า “การสูบบุหรี่ไฟฟ้า” เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะในละอองไอของบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษอันตรายต่อสุขภาพ ประกอบด้วย 

สารนิโคตินปริมาณสูง สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย สารเคมี โลหะหนัก รวมถึงก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สามารถแทรกซึมเข้าสู่ปอดและเข้าสู่กระแสเลือด โดยสารพิษเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้น ก่อให้เกิดอาการโรคหอบหืดได้

บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร 

บุหรี่ไฟฟ้า หรือ Electronic Cigarette เป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่งที่ใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำ ซึ่งประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่  ตัวทำให้เกิดควันและความร้อน (Atomizer) และน้ำยา โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติทั่วไป และด้วยการสูบควันของบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ามีอันตรายต่อร่างกายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา

อันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า

แต่จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับโรคหอบหืดในวัยรุ่น  ของนักวิชาการชาวจีน พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงของการเป็นโรคหอบหืดสูงถึง 1.31 เท่า และหากสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำเสี่ยงเป็นโรคหอบหืดสูงถึง 1.36 เท่า นอกจากนี้ 

การสูบควันในระยะยาวอาจทำให้เกิดความผิดปกติของประสาทสัมผัสรับกลิ่น เมื่อการรับรู้กลิ่นลดลง ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจึงต้องเลือกน้ำยาที่มีรสชาติที่มีความเข้มข้นขึ้น ซึ่งอาจยิ่งสร้างความระคายเคือง ทำลายจมูก ปอด และทางเดินหายใจมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ผู้ผลิตยังมีการการผสมสารปรุงแต่งรสชาติยังเป็นการอำพรางความไม่พึงประสงค์ของควันบุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคติน โลหะหนัก ฟอร์มาลดีไฮด์ ฯลฯ ซึ่งทั้งฉุนและเป็นอันตราย 

สารปรุงแต่งรสเหล่านี้ ทำให้สัญญาณเตือนภัยทางประสาทสัมผัส และปฏิกิริยาป้องกันของผู้ใช้ลดลง

เพราะมีผลการวิจัยเผยให้เห็นว่า สารแต่งกลิ่นรสทำปฏิกิริยาผลิตสารระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ การสัมผัสเป็นเวลานานอาจทำให้ไอเรื้อรัง มีการอักเสบในทางเดินหายใจ และปอดถูกทำลายอย่างเฉียบพลัน

สถานการณ์และแนวทางการแก้ไข 

ปัจจุบันการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่คนหนุ่มสาว เด็ก และเยาวชน จึงทำให้ต้องมีการจับตาเฝ้าระวัง รวมทั้งควรมีวิธีการแก้ไขและป้องกัน เพื่อลดการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ปกป้องเด็ก เยาวชน และคนหนุ่มสาวจากการติดนิโคตินไปตลอดชีวิต 

รวมทั้งยังมีปัญหาอื่น ๆ ที่อาจจะตามมา ทั้งนี้ทุกฝ่ายจะต้องทำงานร่วมกัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน บุคลากรทางด้านสาธารณสุข องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ และรัฐบาล รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ

นายแพทย์ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนเลิกสูบ  ทั้งบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อลดโอกาสเสี่ยงเกิดโรคและภัยสุขภาพ เพราะในบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า มีสารพิษเสพติดอันตราย หากฝ่าฝืนสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะ ต้องโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโทษ พิษภัยของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการเลิกสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ที่มา : 

กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

กรมควบคุมโรค https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=39491&deptcode=

Image by freepic.diller on Freepik