เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร

“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เป็นเครื่องดื่มที่ทุกคนรู้ดีว่า หากดื่มมากไปจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ และอาจทำให้ขาดสติ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหล่านี้ ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากด้วย
เพราะการผลิตเบียร์ 500 มิลลิลิตร ต้องใช้น้ำมากถึง 148 ลิตร ส่วนการผลิตไวน์ 125 มิลลิลิตร จะใช้น้ำมากถึง 110 ลิตร 

จะเห็นว่า การผลิตไวน์ใช้น้ำมากกว่าการผลิตเบียร์หลายเท่า โดยมีสาเหตุมาจากส่วนผสมหลักที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่เป็นพืชที่ต้องการน้ำสูง เช่น องุ่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ฮอปส์ และน้ำตาล

นอกจากนี้กระบวนการต้มส่วนผสมและการผลิตบรรจุภัณฑ์ก็ต้องใช้น้ำปริมาณมากเช่นกัน

รวมทั้งวัตถุดิบต่าง ๆ ยังต้องใช้ที่ดินจำนวนมากในการปลูก และส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมพืชเชิงเดี่ยวที่อาจมีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงร่วมด้วย รวมไปถึงกระบวนการผลิตทั้งการต้ม หมักบ่ม หรือแม้แต่การผลิตบรรจุภัณฑ์ 

ไม่ว่าจะเป็นขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม พลาสติก กล่องลัง ทุกส่วนล้วนเป็นห่วงโซ่การผลิตที่ใช้พลังงานและทรัพยากรสูง ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงตามไปด้วย อีกทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ ต้องการการขนส่งและการเก็บรักษาที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งต้องใช้พลังงานสูงมากเช่นกัน

ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก และไม่มีการประเมินค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้โดยเฉพาะ ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากทั่วโลกก็ไม่ได้นิ่งเฉยกับปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากธุรกิจของตน และได้พยายามหาวิธีการที่จะทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น

โดยเริ่มจาก กระบวนการขนส่ง เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีน้ำเป็นองค์ประกอบสูง เช่น เบียร์ที่มีน้ำสูงถึง 95% ส่วนที่เหลือเป็นก๊าซที่อัดแน่นในบรรจุภัณฑ์และส่วนผสมอื่น ๆ และยังรวมกับน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์ด้วย ดังนั้น จึงเกิดการคิดค้น “เบียร์เข้มข้นสูง” เพื่อลดน้ำหนักในการขนส่ง

โดย “เบียร์เข้มข้นสูง”จะมีน้ำหนักเพียง 1 ใน 6 จากเบียร์ทั่วไป และเมื่อต้องการดื่มก็แค่ผสมเบียร์เข้มข้น 1 ส่วน กับน้ำ 6 ส่วน และสามารถเพิ่มระดับแอลกอฮอล์และอัดก๊าซก่อนเสิร์ฟได้ไม่ต่างจากเบียร์ปกติ

ส่วนวัตถุดิบในการผลิตเบียร์จะมีหนึ่งสิ่งที่ทำให้เบียร์มีกลิ่นรสที่เป็นเอกลักษณ์ นั่นคือ “ฮอปส์” ซึ่งเป็นพืชที่ต้องการน้ำสูงมาก โดยมีข้อมูลระบุว่า หากต้องการผลิตเบียร์ 100 ลิตร จะต้องใช้ฮอปส์มากกว่า 0.5 กิโลกรัม และต้องใช้น้ำในการผลิตมากถึง 1,135 – 1,700 ลิตร นักวิจัยพันธุกรรมยีสต์จึงได้คิดค้นและดัดแปลงพันธุกรรมของยีสต์ให้สามารถหมักบ่มเบียร์และทำให้เกิดกลิ่นรสที่คล้ายฮอปส์ขึ้นมาทดแทนการใช้ฮอปส์จริง

ผู้ผลิตยังสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้เป็นกลางทางคาร์บอนได้ ด้วยนวัตกรรมและโซลูชั่นต่าง ๆ เช่น 

พัฒนาเครื่องจักรอุปกรณ์ ปรับปรุงฉนวนอาคาร อีกทั้งรวบรวมและหมุนเวียนพลังงานความร้อนที่ใช้ในการผลิต รวมถึงใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน อย่างเครื่องกำเนิดเชื้อเพลิงชีวมวลจากผลพลอยได้ของการต้มและกลั่น และของเสียจากฟาร์มวัตถุดิบต่าง ๆ 

นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังสามารถพัฒนากระบวนการบำบัดน้ำเสียจากการผลิตให้สามารถนำกลับมาใช้ในการผลิตซ้ำได้ด้วย

ส่วนผู้บริโภคเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดื่มได้เช่นกัน เช่น การสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ท้องถิ่น เลือกการเติมเครื่องดื่มโดยใช้เหยือกหรือเครื่องจ่ายแบบทาวเวอร์ แทนการซื้อเครื่องดื่มบรรจุภัณฑ์ใหม่ การเลือกใช้ขวดหรือกระป๋องที่รีไซเคิลได้ แต่ทางที่ดีที่สุด คือการลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่นอกจากจะดีต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย.

ที่มา: www.dcce.go.th