มาตรการแก้ปัญหา “หนี้ครัวเรือน” อย่างยั่งยืนของธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพื่อการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย

  1. การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน มีเครื่องมือช่วยสร้างวินัยในการชำระหนี้ และมีแนวทางการช่วยเหลือและมีการแจ้งสิทธิและข้อมูลสำคัญแก่ลูกหนี้และเมื่อการชำระหนี้เริ่มมีปัญหา ซึ่งจะเริ่มใช้ 1 มกราคม 2567
  2. การดูแลลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง โดยจะต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ให้ปิดหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งจะเริ่มใช้ 1 เมษายน 2567
  3. ทดสอบการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing: RBP) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) โดยในเบื้องต้น ธปท. มีแผนจะบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในปี 2568

นโยบายดังกล่าวได้มีการดึงสถาบันการเงินเข้ามาร่วมแแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 90.6 ของจีดีพี กระจายไปทั้งกลุ่มพนักงานใหม่เพิ่งจบการศึกษา ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ลูกหนี้หมุนเวียนทุกกลุ่ม ที่เคยจ่ายชำระดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น จะต้องปิดบัญชีให้ได้ภายใน 5 ปี โดยลดดอกเบี้ยเงินกู้จากร้อยละ 25 ลดเหลือร้อยละ 15   

หลังจาก ธปท. ได้ออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน  เพื่อดูแล 

(1) หนี้เสีย ให้สามารถแก้ไขได้ 

(2) หนี้เรื้อรัง ให้มีทางเลือกปิดจบหนี้ได้

 (3) หนี้ใหม่ ให้มีคุณภาพ ไม่กลายเป็นปัญหาในอนาคต และ 

(4) หนี้นอกระบบ ให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะเข้ามากู้ในระบบได้ โดยเกณฑ์ responsible lending จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เว้นแต่ส่วนของการดูแลหนี้เรื้อรังเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

มีการคาดการณ์ว่านโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการสินเชื่อทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในภาพรวมอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงอาจส่งผลต่อการเติบโตของปริมาณสินเชื่อโดยรวมในอนาคต 

อย่างไรก็ดีการดำเนินธุรกิจและการกำกับดูแลของภาครัฐจะให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่ออย่างยั่งยืนมากขึ้น อาทิ การคำนึงถึงความสามารถในการชำระคืนของผู้กู้ การช่วยแก้หนี้สินกลุ่มเฉพาะโดยการลดดอกเบี้ยจากฝั่งสถาบันการเงิน และส่งเสริมให้เกิดการก่อหนี้ที่มีคุณภาพ เพื่อทดแทนหนี้ที่ใช้บริโภคแล้วหมดไป

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย https://www.bot.or.th/th/news-and-media/news/news-20230721.html

สมาคมธนาคารไทย https://www.tba.or.th/