มาดูแนวทางและมาตรการจัดการฝุ่น PM2.5 เมื่อเริ่มเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เสนอให้จัดทำมาตรการแก้ไขฝุ่น PM2.5 พร้อมเสนอกลไกแก้ไขปัญหาทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 (ฝุ่น PM2.5) โดยเฉพาะในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงต้นปีและปลายปีของทุกปี โดยมีแหล่งกำเนิดมาจากกิจกรรมในพื้นที่ ได้แก่ ไฟป่า การเผาในพื้นที่เกษตร หมอกควันข้ามแดน การจราจรและขนส่ง และโรงงานอุตสาหกรรม 

ซึ่งในปี 2566 สถานการณ์มลพิษจากฝุ่นละอองมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่เริ่มเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง และปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่โดยจะรุนแรงต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นปี 2567 

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในปี 2567 และกลไกบริหารจัดการ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 ที่เสนอโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ อีกทั้งได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้ง  “คณะกรรมการจัดการปัญหามลภาวะทางอากาศเพื่อความยั่งยืน” โดยได้เสนอให้มีกลไกการบริหารจัดการ ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ ภายใต้กรอบแนวคิด ดังนี้ 

(1) การกำหนดพื้นที่แบบมุ่งเป้า โดยระบุพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตรที่ไฟไหม้ซ้ำซาก 

(2) สร้างกลไกการทำงานให้ภาคเอกชนสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเพื่อลดข้อจำกัดด้านงบประมาณ 

(3) จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อสั่งการลงสู่ศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษแบบถาวร 

(4) ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน

(5) ยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนให้เข้มข้นจากระดับภูมิภาคอาเซียนไปสู่ระดับทวิภาคี และ 

(6) ใช้การสื่อสารเชิงรุก ตรงจุด และต่อเนื่อง เพื่อให้ส่วนราชการได้นำมาตรการดังกล่าวไปใช้เป็นกรอบในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานและบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมการรับมือและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ที่จะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งเเวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

การกำหนดค่าเฉลี่ยของฝุ่น PM2.5 ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ต้องลดลง 40% กรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลง 20% ภาคตะวันออกเฉลียงเหนือต้องลดลง 10% และภาคกลางลดลง 20% สำหรับจำนวนวันที่มีฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน กำหนดให้ภาคเหนือต้องลดลง 30% กรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลง 5% ภาคตะวันออกเฉลียงเหนือลดลง 5% และภาคกลาง 10% อีกทั้งมีการตั้งเป้าหมายลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรมลงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และพื้นที่อื่น ๆ ลดลงร้อยละ 10 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคการเกษตร ภายใต้หลักการ 3R คือ 

  1. Re-Habit : ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชชนิดเดิมแบบไม่เผาในทุกขั้นตอนการผลิต 
  2. Replace with high value crops : ปรับเปลี่ยนพืชบนพื้นที่สูง ให้เป็นการปลูกพืชที่ปลอดการเผา และลดการบุกรุกป่า จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เปลี่ยนมาเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง อาทิ กาแฟ มะคาเดเมีย อะโวคาโด มะม่วง เป็นต้น เพื่อสร้างรายได้จากพืชที่มีมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน และ 
  3. Replace with Alternate crops : ปรับเปลี่ยนพืชบนพื้นราบ จากพื้นที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าวปรับไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้หมาะสม และสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ลดใช้น้ำ ปลูกพืชแบบปลอดการเผา บริหารจัดการผลผลิตตลอดจนการจำหน่าย”

สำหรับความร่วมมือในภาคเอกชน จะมีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนนำเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น ตอซัง ฟาง ใบไม้ใบหญ้าแห้ง ไปเป็นเชื้อเพลิง แปรรูปเป็นวัตถุดิบในโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งภาครัฐจะมีมาตรการส่งเสริมเพื่อแลกสิทธิพิเศษด้านภาษีหรือการอุดหนุนดอกเบี้ย พร้อมทั้งเสนอให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ เริ่มดำเนินการใช้มาตรฐานยูโร 5 หรือมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ (Euro emissions standards) ระดับ 5 ก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2567 และให้จำหน่ายในราคาเดียวกับน้ำมันดีเซลทั่วไป

ในส่วนแนวทางการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จากภาคการจราจร ได้มีมาตรการเพิ่มจุดตรวจตรวจจับควันดำให้ครอบคลุมพื้นที่วิกฤต เข้มงวดวินัยการจราจร เข้มงวดการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี พิจารณาการตรึงพื้นที่ลดจำนวนรถบรรทุกและรถโดยสารเข้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในในช่วงวิกฤต มาตรการลดภาษีประจำปีของ รถ EV เพื่อจูงใจให้หันมาใช้รถพลังงานทางเลือกมากขึ้น รวมถึงเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเผา จับกุมผู้กระทำผิด และมีบทลงโทษโดยใช้อัตราโทษสูงสุด

#ฝุ่นpm2.5 #ปรากฏการณ์เอลนีโญ #กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม #สาระดีสตอรี่ #saradeestory 

ที่มา : https://www.facebook.com/mnreTH

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-ประเทศไทย