31 พฤษภาคม วันงดสูบบุหรี่โลก

คำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2566 “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย”

ประวัติวันงดสูบบุหรี่โลก

วันงดสูบบุหรี่โลกจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ.1988 โดยองค์การอนามัยโลก เนื่องจากเล็งเห็นอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ ของผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่ 

การจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลกก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ ให้รัฐบาลชุมชนและประชากรโลก ตระหนักถึงความสำคัญและเข้าร่วมกิจกรรมและกระตุ้นให้รัฐบาลกำหนดนโยบาย/กฏหมายเพื่อควบคุมยาสูบ 

องค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้ และกำหนดให้ วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ( World No Tobacco Day) 

วันงดสูบบุหรี่โลกครั้งแรก ใช้คำขวัญ “บุหรี่หรือสุขภาพต้องเลือกสุขภาพ”

โทษของการสูบบุหรี่

1.ทำให้อัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจสูงขึ้นเป็น 2 เท่า

2.ทำให้อัตราเสี่ยงของการเกิดโรคถุงลมโป่งพองสูงขึ้นเป็น 6 เท่า

3.ทำให้อัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดสูงขึ้นเป็น 10 เท่า

ในประเทศไทย กรมการแพทย์มีความห่วงใยสุขภาพของเด็กไทย เพราะควันบุหรี่เป็นสารก่อมะเร็งในร่างกายมนุษย์ที่ไม่มีความปลอดภัย 

ควันบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด และมีมากกว่า 60 ชนิด ที่ทางการแพทย์ระบุว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ทั้งนี้เด็กจะหายใจเอาอากาศปนเปื้อนควันบุหรี่ที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยของเด็ก หากผู้ปกครองหรือบุคคลในบ้านสูบบุหรี่ โอกาสนี้จึงอยากขอเชิญชวนให้ผู้สูบบุหรี่ตัดสินใจมุ่งมั่นที่จะเลิกสูบ ด้วยการทำให้บ้านปลอดบุหรี่ เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนและสิ่งแวดล้อม

นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า บ้านควรเป็นที่ปลอดภัยสำหรับสมาชิกในครอบครัว เพื่อสุขภาพที่ดี ไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ไม่สูบบุหรี่ใกล้เด็กหรือหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์และทารก จะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตร โดยอาจมีอาการครรภ์เป็นพิษ แท้ง คลอดก่อนกำหนด และเกิดอาการไหลตายในเด็กสูงขึ้น มีความเสี่ยงที่ทารกแรกคลอดจะมีน้ำหนักตัวและความยาวน้อยกว่าปกติ พัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติและอาจมีความผิดปกติทางระบบประสาท 

ในเด็กเล็ก อาจก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวมสูงกว่าเด็กทั่วไป มีอัตราการเกิดโรคหืดเพิ่มขึ้น เกิดการติดเชื้อของหูส่วนกลางในระยะยาวเด็กที่ได้รับควันบุหรี่มือสองจะมีพัฒนาการของปอดน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ 

วิธีการป้องกัน 

-หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่ที่มีโอกาสเจอควันบุหรี่ 

-เมื่อจำเป็นต้องออกไปข้างนอก พ่อแม่และผู้ปกครองควรเตรียมหน้ากากอนามัย หรือผ้าปิดจมูกไปด้วยทุกครั้ง 

-พ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กโดยไม่สูบบุหรี่ 

ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่าเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ หากสมาชิกในบ้านสูบบุหรี่ ดังนั้นจึงขอเชิญชวนพ่อแม่และผู้ปกครองทุกท่านร่วมกันทำ “บ้านปลอดบุหรี่” เพื่อปกป้องสุขภาพให้แก่ลูกหลานของเรา

ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ https://ashthailand.or.th/ กรมการแพทย์ https://www.dms.go.th/