โรคอัลไซเมอร์ Alzheimer ยังไม่สายถ้าป้องกันแต่เนิ่น ๆ 

อัลไซเมอร์ เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดจากภาวะสมองเสื่อมที่มักพบในผู้สูงอายุ เป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถชะลอการเกิด หรือชะลอการเสื่อมถอยของโรคสมองเสื่อมให้ช้าที่สุดได้  

อัลไซเมอร์เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของ สารอะซีติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ

อาการเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์

– หลงลืมวางของผิดที่ 

– มีปัญหาการใช้ภาษา มีปัญหาในการสื่อสาร พูดหรือถามคำถามเดิมซ้ำ ๆ 

– ไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องต่าง ๆ ได้นาน 

– วางแผนหรือตัดสินใจแก้ไขปัญหาไม่ได้ 

– มีปัญหาเรื่องมิติและทิศทาง 

– ไม่สามารถทำกิจกรรมที่มีลำดับขั้นตอนที่เคยทำได้  

– บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม หรือมีอาการทางจิต 

– มีอารมณ์เศร้า ท้อแท้ แยกตัว เฉื่อยชา ไม่ทำอะไร

– ไม่สนใจคนรอบข้าง

ทักษะที่เก็บรักษาไว้  ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ สามารถมีทักษะที่ถูกเก็บรักษาไว้แม้ในขณะที่อาการแย่ลงเพราะถูกควบคุมโดยส่วนต่าง ๆ ของสมองที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ ทักษะที่เก็บรักษาไว้รวมถึงการอ่านหนังสือเล่านิยายคิดถึงความทรงจำเก่า ๆ การร้องเพลงการเต้นรำและการวาดรูป

อาการของโรคเมื่อดำเนินไปจะทำให้เกิดความบกพร่องของการรู้คิดด้านอื่นร่วมด้วย เช่น หลงทาง คิดเลขไม่ได้ ไม่สามารถจัดการกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานได้เอง มีปัญหาด้านอารมณ์ ปัญหาพฤติกรรม และความผิดปกติทางจิตตามมา เช่น หงุดหงิด เฉื่อยชาและเฉยเมย ขาดการยับยั้งชั่งใจ มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน เป็นต้น

สาเหตุ

  1. โรคอัลไซเมอร์เกิดจากหลายปัจจัยทั้งพันธุกรรม วิถีชีวิต และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม 
  2. โรคมักจะเริ่มต้นในส่วนสมองที่ควบคุมความทรงจำ กลไกการเกิดโรคเชื่อว่ามีการสะสมของโปรตีนบางชนิด เช่น โปรตีน amyloid และ โปรตีน tau ผิดปกติในเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาทเสื่อมสภาพ สูญเสียการทำงานเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ จนกระทั่งทำให้เซลล์สมองตาย โดยพยาธิสภาพดังกล่าวจะเกิดในส่วนอื่นๆของสมองด้วยตามลำดับ ทั้งนี้ระบบการทำงานของสมองมักถูกทำลายก่อนมีอาการแสดง
  3. โรคอัลไซเมอร์ยังสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้แต่พบเป็นส่วนน้อย คือประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการให้เห็นตั้งแต่อายุ 50-60 ปี
  4. โรคดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยโรคนี้มีความผิดปกติของการสะสมของโปรตีนบางชนิดที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เช่นกัน
  5. พบว่าโรคอัลไซเมอร์ที่เกิดจากโรคของหลอดเลือด รวมถึงพบร่วมกับโรคหลอดเลือดในสมองได้บ่อย ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองจึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ด้วย ดังนี้ เช่น น้ำหนักเกินมาตรฐาน การขาดการออกกำลังกาย             

การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน

การป้องกันโรคอัลไซเมอร์

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ การป้องกันโรคจึงเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคดังนี้

  1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และโคเลสเตอรอลสูง
  2. รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน
  3. ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่
  4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  5. ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่อสมอง การพลัดตกหกล้ม
  6. หมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี ควรตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจติดตามโรคประจำตัวที่เป็นอยู่เป็นระยะ ๆ หากมีอาการเจ็บป่วยควรไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ
  7. นอกจากนี้ การฝึกฝนสมอง เช่น คิดเลข อ่านหนังสือ เล่นเกมส์ ฝึกการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ การพบปะพูดคุยกับผู้อื่นบ่อย ๆ การมีความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยง เข้าชมรมผู้สูงอายุ ฯลฯ นอกจากนี้อาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ยังช่วยให้ผู้สูงวัยคุณภาพชีวิตที่มีและมีความสุขอีกด้วย

การดูแลรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมอัลไซเมอร์

ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานการรักษาโรคนี้ให้หายขาด การดูแลรักษาจึงมุ่งเพื่อช่วยลดความบกพร่องทางการรู้คิด การสนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถประกอบกิจวัตรประจำวันและเข้าสังคมให้ได้มากที่สุด โดยแบ่งเป็น

การรักษาโดยไม่ใช้ยา 

มีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับภาวะความรุนแรงของโรคและขีดความสามารถในการเรียนรู้ของผู้ป่วยแต่ละราย เน้นให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมตามระยะของโรค ดังนี้

1.ดูแลเรื่องกิจวัตรประจำวันและการฝึกทักษะการเข้าสังคม ให้ผู้ป่วยได้ร่วมดูแลเรื่องกิจวัตรประจำวันของตนเองโดยผู้ดูแลคอยสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือตามขีดความสามารถของผู้ป่วย

2.การปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมโดยลดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการแย่ลง เช่น เสียงรบกวน รวมถึงการปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัยง่ายต่อการใช้งาน เช่น พื้นเรียบ ไม่มีของเกะกะทางเดินและแสงสว่างเพียงพอ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ

3.การให้ความรู้กับผู้ดูแลผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยจะเข้าสู่สภาวะที่ต้องพึ่งพา ผู้ดูแลจึงเป็นบุคคลสำคัญที่สุดที่ต้องเข้าใจการดำเนินของโรค และมีความรู้เกี่ยวการดูแลผู้ป่วยในแต่ละระยะของโรค รวมไปถึงสนับสนุนการดูแลตนเองของคนที่ดูแลผู้ป่วย

4.การฟื้นฟูผู้ป่วยสมองเสื่อมด้านกายภาพ  เนื่องจากผู้ป่วยที่มีอาการสมองเสื่อมมีขีดความสามารถในการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ลดลง การปรับอุปกรณ์ให้ง่ายต่อการใช้งานหรือปรับกิจกรรมให้เรียบง่ายและปลอดภัย รวมไปถึงการฝึกการกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสโดยการบีบ จัด นวด การกระตุ้นกิจกรรมการเคลื่อนไหวจะทำให้ผู้ป่วยได้ฝึกสมรรถภาพทางกายภาพได้ดียิ่งขึ้น

5.การดูแลด้านพฤติกรรมและจิตบำบัด ปัญหาเรื่องพฤติกรรมและอารมณ์เป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยในผู้ป่วย การรักษาที่ควบคู่ทั้งการรักษาด้วยยาและพฤติกรรมและจิตบำบัด การให้ความรู้กับผู้ดูแลเพื่อให้เข้าใจผู้ป่วยและการแนะนำวิธีการดูแลได้อย่างเหมาะสม เช่น การเบี่ยงเบนความสนในผู้ป่วยออกจากเรื่องที่กำลังหงุดหงิดหรือโมโห การเสริมสร้างด้านอารมณ์ด้วยดนตรีบำบัด เป็นต้น

การรักษาด้วยยา 

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่ามียาที่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ แต่มียาบางกลุ่มที่สามารถใช้รักษาบรรเทาอาการ แลการประคับประคอง มี 2 กลุ่มหลัก

ยาที่ใช้รักษาตามอาการด้านการรู้คิด

.เป็นยากลุ่มที่ยับยั้งสารที่ทำลายสารสื่อประสาทในสมอง (acetylcholine esterase inhibitor) ทำให้มีสารสื่อประสาทเพิ่มขึ้น เช่น donepezil, galantamine, rivastigmine เป็นต้น สามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงรุนแรง

นอกจากนี้ยังมียากลุ่ม NMDA receptor antagonist เช่น memantine ทำให้ glutamate ไม่สามารถจับกับ receptor ได้ทำให้ลดการเกิดพิษต่อเซลล์ประสาท ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง

ยาที่ใช้รักษาปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และความผิดปกติทางจิต

ปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และความผิดปกติทางจิตเกิดได้บ่อยในผู้ป่วยสมองเสื่อม ซึ่งอาจต้องใช้ยาตามอาการทางจิตร่วมรักษา เช่น ยาต้านเศร้า ยาลดอาการหลงผิดประสาทหลอนและอาการกระวนกระวาย ยาคลายกังวลหรือยานอนหลับ โดยแพทย์อาจจะปรับยาตามอาการเพื่อให้สมดุลโดยพิจารณาถึงประโยชน์และผลข้างเคียงของการใช้ยา

“การดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์จำเป็นต้องดูแลอย่างเป็นองค์รวมประกอบด้วยการดูแลรักษาในด้านกายภาพ ด้านจิตใจและพฤติกรรม ด้านการเข้าสังคม รวมไปถึงการให้ความรู้และสนับสนุนญาติผู้ดูแลผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี “

ที่มา : https://chulalongkornhospital.go.th ,https://www.chulabhornhospital.com/page.php?name=589


จากสำนักข่าว CNN :

ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ตัวแรกที่ช่วยชะลอการลุกลามของโรคได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาในสหรัฐอเมริกา

วันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม 2023 ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า :

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ อนุมัติอย่างเต็มรูปแบบสำหรับยารักษาโรคอัลไซเมอร์ Leqembi ซึ่งเป็นยาตัวแรกที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถชะลอการเกิดโรคความจำเสื่อมได้

“การดำเนินการในวันนี้เป็นการตรวจสอบครั้งแรกว่ายาที่มีเป้าหมายในกระบวนการของโรคอัลไซเมอร์ได้แสดงให้เห็นประโยชน์ทางคลินิกในโรคร้ายแรงนี้” Teresa Buracchio รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานประสาทวิทยาศาสตร์ในศูนย์การประเมินและวิจัยยาของ FDA กล่าวในประกาศ _ “การศึกษาเชิงยืนยันนี้ยืนยันว่าเป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์”