สภาผู้บริโภคเสนอวิธีแก้ค่าไฟแพง แบบไม่ต้องใช้งบประมาณภาษีประชาชน

จากปัญหาค่าไฟฟ้าแพงสร้างความเดือดร้อนแบบที่เรียกว่า “แสนสาหัส” กับประชาชนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และรัฐบาลรักษาการเลือกวิธีขออนุญาต กกต. ใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินระหว่างการเลือกตั้งถึง 11,112 ล้านบาท มาช่วยลดค่าไฟให้กับบ้านอยู่อาศัยในเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 

สภาผู้บริโภค เห็นว่า วิธีการดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ทำให้ปัญหาที่แท้จริงได้รับการแก้ไข ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากแต่ผลลัพธ์ช่วยได้เฉพาะกลุ่มไม่ทั่วถึง ซึ่งนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 จนถึงล่าสุด รัฐบาลจะใช้เงินงบประมาณเพื่อลดค่าไฟเฉพาะกลุ่มมากถึง 29,465 ล้านบาท

การแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงที่ต้นตอ สภาผู้บริโภคได้ศึกษาและตรวจสอบข้อมูลแล้วพบเหตุแห่งปัญหาค่าไฟแพงที่สำคัญ ดังนี้

  1. ค่าไฟแพงเพราะ รัฐบาลวางแผนผลิตไฟฟ้าผิดพลาดเน้นความมั่นคงแบบสุดโต่ง เปิดช่องให้เกิดการอนุมัติสร้างและซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงจนเกินความต้องการ

ปัญหานี้ต้องลากยาวไปถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558 – 2579 (PDP 2015) ที่ไปกำหนดให้ประเทศมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด ขณะที่มาตรฐานสากลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสมอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 10 – 15 ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด การที่แผน PDP 2015 กำหนดไฟฟ้าสำรองแบบกลับด้าน จึงกลายเป็นการขยายเพดานเปิดช่องให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันประเทศมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองถึงร้อยละ 50 – 60 แม้กระทรวงพลังงานจะชี้แจงว่า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจะต้องคิดจากกำลังผลิตไฟฟ้าที่ใช้งานได้จริงหรือพึ่งได้เท่านั้น ไม่ควรคิดจากกำลังผลิตตามสัญญาทั้งหมด แต่กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองตามวิธีที่กระทรวงพลังงานคิดก็ยังสูงถึงร้อยละ 30 เกินมาตรฐานสากลอยู่ดี

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จำนวน 13 โรง เกิดภาวะ “ว่างงาน” ไม่ได้ผลิตไฟฟ้า แต่ได้เงิน “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า” ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ต้องจ่ายตามสัญญา “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” หรือ Take or Pay ซึ่งในช่วงเดือน มกราคม – เมษายน 2566 มี 2 โรงว่างงานได้ค่าความพร้อมจ่ายรวมเป็นเงิน 1,415 ล้านบาท และในช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 มีถึง 6 โรงไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเลยสักเดือน ได้ค่าความพร้อมจ่ายรวมเป็นเงิน 6,187 ล้านบาท และยังมีหลายโรงไฟฟ้าแม้จะได้เดินเครื่องแต่ก็ไม่ได้เดินเครื่องเต็มกำลังผลิต ประกอบกับเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูง ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่ กฟผ. ซื้อ มีอัตราค่าไฟสูงตั้งแต่ 6 – 12 บาทต่อหน่วย ค่าใช้จ่ายทั้งค่าความพร้อมจ่ายและค่าซื้อไฟฟ้าเหล่านี้ถูกนำมาอยู่ในค่า Ft ที่เรียกเก็บกับประชาชนนั่นเอง

  1. ค่าไฟฟ้าแพงเพราะ การจัดหาก๊าซธรรมชาติขาดประสิทธิภาพและการจัดสรรก๊าซไม่เป็นธรรม

เหตุที่ต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG เพิ่มขึ้น มี 2 สาเหตุสำคัญคือ

1) ปัญหาการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชลดลงจาก 1,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันซึ่งคิดเป็นร้อยละ 65 ของก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเหลือเพียง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือหายไปครึ่งหนึ่งของที่เคยผลิตได้ในปี 2563 ปัญหานี้เกิดจากการเปลี่ยนผ่านของผู้รับสัญญาใหม่กับเก่าไม่เป็นไปตามแผนซึ่งเรื่องนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

 

2) ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงแต่แต่รัฐบาลยังคงนโยบายจัดสรรก๊าซให้โรงแยกก๊าซของ ปตท. ไปผลิตวัตถุดิบตั้งต้นให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเครือเป็นลำดับแรก ก๊าซส่วนที่เหลือถึงจะผลิตเป็นก๊าซ LPG และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับภาคผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง เมื่อเกิดปัญหาก๊าซในอ่าวไทยขาด ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าไม่พอ จึงมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาให้ใช้แทน แต่ไม่ได้ใช้ฟรีหรือมีราคาลด ต้องใช้ราคาตลาดโลก เมื่อนำราคา LNG ที่มีราคาแพงมาอยู่ในราคา Pool Gas ของการผลิตไฟฟ้า จึงทำให้ราคา Pool Gas ของประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย และถูกส่งผ่านมาอยู่ในค่า Ft ในท้ายที่สุด

 

  1. ค่าไฟแพงเพราะ สูตรการคิดค่า Ft ใช้หลักการไม่เป็นธรรมกับประชาชนจ่ายที่เกิดขึ้น

ค่า Ft หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปรโดยอัตโนมัติ ที่มีการปรับปรุงทุกๆ 4 เดือนหรือ 3 ครั้งต่อปี (มกราคม – เมษายน พฤษภาคม – สิงหาคม และกันยายน – ธันวาคม) ปัจจุบันคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ใช้สูตรคำนวณจากการพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าและการประมาณการราคาเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน เป็นการคาดการณ์ค่าเฉลี่ยล่วงหน้า 4 เดือน และเรียกเก็บเป็นค่าคงที่ตลอด 4 เดือน ส่วนต่างระหว่างต้นทุนที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจริงและค่า Ft ที่เรียกเก็บ จะถูกนำไปคิดเพิ่มหรือลดในค่า Ft รอบถัดไป

สูตรค่า Ft แบบนี้จึงไม่ได้คำนวณจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง จึงย่อมมีความคลาดเคลื่อนได้ เช่น การคิดค่าเชื้อเพลิงในงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2566 คาดการณ์ว่าราคา LNG ตลาดโลกจะพุ่งขึ้นไปถึง 1,300 – 1,400 บาทต่อล้านบีทียู จากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 37 บาท/เหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะสูงถึง 90 – 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ความเป็นจริงราคา LNG หลังจากเดือน ก.ย.2565 ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 600 บาทต่อล้านบีทียูในเดือน มี.ค. 2566 ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสแรกของปี 2566 เฉลี่ยอยู่เพียง 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น การคาดการณ์ราคาค่าเชื้อเพลิงที่คลาดเคลื่อนสูงเกินจริงแบบนี้ กลายเป็นภาระค่า Ft ในรอบ 4 เดือนนั้นๆทันที จะรอการลดทอนคืนก็ต้องรอการคิดคำนวณใหม่ในรอบ 4 เดือนถัดไป ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะได้ทอนคืนครบถ้วนหรือไม่ เพราะยังมีปัจจัยใหม่ๆที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างได้อีกในอนาคต

 

จากสาเหตุที่กล่าวมา สภาผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงแบบที่ไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน ดังนี้

  1. ให้ กกพ. ทบทวนสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ที่ใช้วิธีคำนวณจากการพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าและการประมาณการราคาเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ใช้เป็นค่าเฉลี่ยล่วงหน้า 4 เดือนนั้น ให้คำนวณจากค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงของ 4 เดือนที่ผ่านมาแทน

 

  1. ให้กระทรวงพลังงานและ กกพ. ปรับโครงสร้าง ราคา Pool Gas ใหม่ โดยให้นำปริมาณก๊าซธรรมชาติที่เข้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. และถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมารวมอยู่ในราคา Pool Gas ด้วย จะทำให้ราคา Pool Gas ลดลงได้ คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ราว 40,000 – 50,000 ล้านบาทต่อปี หรือลดค่าไฟฟ้าได้ 23 – 25 สตางค์/หน่วย

 

  1. ให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการให้ ปตท. จัดสรรรายได้จากธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นส่วนลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติให้กับ กฟผ. เพิ่มเติม ซึ่งจากการคำนวณส่วนต่างเบื้องต้นของมูลค่าก๊าซอีเทนของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่ส่งให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเฉพาะในปี 2564 พบว่าจะเกิดส่วนต่างมูลค่าหลังหักค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนจากการประกอบกิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ในระดับที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท  จึงควรนำเงินส่วนนี้มาเป็นส่วนลดค่าก๊าซให้ กฟผ. อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้ของ กฟผ. ได้รวดเร็วมากขึ้น

 

  1. การแก้ปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นเกิน กระทรวงพลังงานต้องหยุดสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หยุดเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าใหม่ และควรเจรจาต่อรองปรับปรุงสัญญากับโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วเพื่อลดค่าซื้อไฟฟ้า รวมทั้งค่าความพร้อมจ่ายที่เกิดขึ้น

 

  1. ให้ กกพ. ประกาศให้ประชาชนสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านได้ด้วยการยอมให้มิเตอร์หมุนคืนได้(แบบหักลบกลบหน่วย หรือ Net Metering) ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 เหล่านี้คือมาตรการที่รัฐบาลนี้และรัฐบาลหน้าควรดำเนินการโดยทันทีเมื่อมีอำนาจอยู่ในมือ เพื่อให้ค่าไฟฟ้าของประเทศลดลงต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย เพื่อลดความทุกข์เพิ่มความสุขให้กับผู้บริโภค ประชาชนอย่างยั่งยืน

ที่มา : https://www.tcc.or.th/25052566_eletricity-fair_article/