มาดูสาเหตุที่ฝุ่น PM2.5 กลับมาเป็นปัญหาในช่วงเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี

ทำไมบางพื้นที่ถึงเผชิญปัญหาฝุ่น PM2.5 มากกว่าพื้นที่อื่น

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในบ้านเราที่มีค่าฝุ่นสูงขึ้นจนติดอันดับโลก ส่งผลกระทบในการดำเนินชีวิตของคนเมืองที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ ที่สำคัญคือส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพร่างกายและเป็นสาเหตุให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจที่เรื้อรัง 

PM2.5 คืออะไร? – คำว่า PM ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ PM 10 และ PM 2.5 ส่วนตัวเลข 2.5 นั้นมาจากหน่วย 2.5 ไมครอนหรือไมโครเมตรนั่นเอง

ฝุ่นละออง PM2.5 ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญและออกมาแจ้งเตือนให้ทราบ เพราะเป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กมาก เส้นผมที่ว่ามีขนาดเล็กแล้ว เจ้า PM2.5 ยังเล็กกว่าเส้นผมถึง 20 เท่า ทำให้เล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่ปอด และหลอดเลือดได้ง่าย ส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว

ความเข้มที่แตกต่างของฝุ่น PM2.5 แบ่งออกเป็น 3 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้

1) การเผา แหล่งกำเนิดใหญ่ของ PM2.5

–    ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กกว่า PM2.5 ลงไป เกิดขึ้นปริมาณมากจากการเผาไหม้ทุกรูปแบบ

–    การเผาไหม้ 3 แหล่งใหญ่ที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย ได้แก่ 

  1. การเผาไหม้เชื้อเพลิงของยานพาหนะ 
  2. การเผาไหม้เชื้อเพลิงและสารเคมีในอุตสาหกรรมการผลิตประเภทต่าง ๆ และ 
  3. การเผาพื้นที่การเกษตร รวมถึงการเผาขยะ และไฟป่า 

2) สภาพอากาศ 

– สภาพอากาศเป็นตัวแปรสมทบที่อาจเพิ่มหรือลดความรุนแรงของฝุ่นได้ โดยเฉพาะเรื่องของทิศทางลม 

– ในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคมเป็นช่วงที่อากาศเหนือกรุงเทพฯ มีการผกผันของอุณหภูมิ (Temperature Inversion) ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ฝาชีครอบ” ปริมาณอากาศที่รองรับฝุ่นจึงลดลง ส่งผลให้ความเข้มของฝุ่นยิ่งสูงขึ้น

3) ผังเมือง และ พื้นที่สีเขียว 

ภูมิประเทศและผังเมืองเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อความเข้มข้นของฝุ่น เช่น เมืองที่อยู่ในหุบเขาหรือมีตึกสูงอยู่อย่างหนาแน่น ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นหรือถูกพัดพามา มักจะถูกกักไว้ในบริเวณนั้น เพราะอากาศถ่ายเทไม่สะดวก 

– ฝุ่น PM2.5 มักเกิดในพื้นที่ที่มีสิ่งก่อสร้างปิดบังด้านบน เช่น สะพาน หรือรางรถไฟฟ้า เป็นต้น 

สิ่งสำคัญคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว จะช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองได้ โดยในบริเวณที่มีพื้นที่สีเขียวมาก เช่น สวนสาธารณะ มักจะมีคุณภาพอากาศที่ดีกว่า เนื่องจากสารมลพิษและ PM2.5 ที่ลอยอยู่ในอากาศมักไปเกาะตามผิวใบไม้และต้นไม้ ยิ่งถ้าต้นไม้มีใบมาก จะยิ่ง “ดักฝุ่น” ได้ดี 

ที่มา : http://www.dcce.go.th/

ยุทธการ “ดับฝุ่น” คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย