เด็กเกิดใหม่ในไทยมีแนวโน้มลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

ประเทศไทย เด็กเกิดใหม่ยังมีแนวโน้มลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบและการแก้ไข้

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยเด็กเกิดใหม่ยังมีแนวโน้มลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง คาดปี 2566 ลดลง ต่ำกว่า 5 แสนคน เสนอให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนหลักในการเพิ่มจำนวนการเกิดที่มีคุณภาพ โดยกำหนดนโยบายด้านประชากรด้วยการ “รณรงค์ให้ครอบครัวที่มีความพร้อม มีบุตรครอบครัวละไม่น้อยกว่า 2 คน” 

ซึ่งการมีบุตรนั้นจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ มีการวางแผน และมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ รวมถึงมีการช่วยเหลือคู่ที่ประสบภาวะมีบุตรยากให้เข้าถึงบริการได้เร็วขึ้น เป็นต้น 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมาเป็นวันประชากรโลก (World Population Day) ซึ่งคณะมนตรีประศาสน์การของสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาได้กำหนดขึ้น ตั้งแต่ปี 2532 เพื่อให้ทั่วโลกตระหนักถึงประเด็นปัญหาของประชากรโลก 

ซึ่งในปี 2566 ประเทศไทยประสบปัญหาจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมในปี 2506-2526 มีเด็กเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ซึ่งเราเรียกการเกิดเกิน 1 ล้านคนต่อปีในช่วงนั้นว่า ยุค Baby Boom จากนั้นก็เริ่มลดลงจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นปีแรกที่มีจำนวนเด็กแรกเกิดต่ำกว่าจำนวนคนที่ตายไป และลดลงเหลือ 502,107 คน ในปี 2565 และอาจจะต่ำกว่า 500,000 คน ในปี 2566 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ เวียดนาม เกาหลีใต้ และอีกกว่า 120 ประเทศ 

ขณะที่จำนวนการเกิดลดลงจำนวนผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ คือ มีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20

และในปี 2579 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด คือ มีประชากรที่อายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ร้อยละ 30 

ทำให้ในปี 2566 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรเข้าสู่วัยแรงงาน อายุ 20-24 ปี ไม่สามารถชดเชยจำนวนประชากรที่ออกจากวัยแรงงาน อายุ 60-64 ปีได้

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากตัวเลขการเกิดที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง หรือที่ในทางประชากรเรียกว่า ภาวการณ์เจริญพันธุ์ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราทดแทน หมายถึงจำนวนเด็กที่เกิดใหม่ไม่ได้สัดส่วนที่จะทดแทนคนรุ่นพ่อและแม่ได้ 

ผลกระทบระยะสั้น  

  1. คนจะลดลง ด้วยตัวเลขการเกิดต่ำกว่าตัวเลขการตาย ส่งผลให้อะไรก็ตามที่ตระเตรียมไว้สำหรับการรองรับคนจำนวนที่มากขึ้นจะไม่เป็นเช่นนั้น เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย ธุรกิจร้านค้าและบริการต่าง ๆ ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงเกษตรกรรมจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน การลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการใช้งานสำหรับคนจำนวนมาก ๆ จะเสียเปล่า

 

  1. ครอบครัวเปลี่ยนไป ครอบครัวขยายจะหายไปกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่อยู่กันไม่กี่รุ่น การตายจากอย่างโดดเดี่ยว การมีแต่เพื่อน ญาติห่างๆ จะมีมากขึ้น ตลอดจนความสัมพันธ์ของคนระหว่างรุ่นที่จะถูกถ่างขยายออกมากขึ้นด้วยสาเหตุจากการเลื่อนอายุสมรส การอยู่เป็นโสด หรือความไม่พร้อมในการมีบุตร รวมถึงความต้องการชีวิตส่วนตัวและมีอิสระที่มากขึ้น

 

  1. สังคมที่เปลี่ยนแปลง นอกจากความสำคัญของเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมแล้ว การที่คนลดน้อยลง หากไม่เกิดการรวมกลุ่มใช้ชีวิตทางสังคมร่วมกันมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นการปฏิสัมพันธ์กันบนโลกเสมือนแทนกันมากยิ่งขึ้น สังคมของคนเราจะถูกผลักให้ออกห่างจากกันมากขึ้นด้วยความไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องใด ๆ ต่อกันดังเช่นสังคมในอดีตที่ใกล้ชิดผูกพันในเชิงเครือญาติที่ยังพอสืบทราบที่มาได้บ้าง

ผลกระทบระยะยาว 

เป็นที่แน่ชัดว่าจะเกิดปัญหาและภาวการณ์หลายสิ่งอย่างที่จะต้องเตรียมการรับมือและพร้อมเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ 

  • การขาดแคลนแรงงาน
  • สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ 
  • ปัญหาความมั่นคง 
  • ขาดทรัพยากรมนุษย์ในการพัฒนาประเทศ 
  • ปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

 “จากประเด็นปัญหาดังกล่าว กรมอนามัย จึงได้ร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ฯ ซึ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 มาอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่า จำนวนการเกิดยังไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ ในระยะครึ่งแผนหลัง กรมอนามัย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงได้เสนอมาตรการทางเลือกในการแก้ไขปัญหา อาทิ

  • การส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี 
  • การเพิ่มสิทธิการลาในการเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่
  • มาตรการ work from home
  •  การยืดหยุ่นเวลางาน การลาคลอดได้ 6 เดือนโดยได้รับค่าจ้าง
  • สิทธิการรักษาและสิทธิการลาเพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก 
  • การใช้ AI เข้ามาทดแทนการใช้มนุษย์ในสาขาที่มีความขาดแคลน 
  • การเลื่อนการเกษียณอายุให้สูงขึ้น 
  • การส่งเสริมการออมสำหรับการเกษียณ
  • และการส่งเสริมการสร้างอาชีพรอง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน” 

ทางด้าน ดร.นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กล่าวว่า การเพิ่มจำนวน การเกิดนี้ อาจต้องมองในหลายมิติเพิ่มเติม การเพิ่มจำนวนการเกิดจากผู้ที่มีความพร้อมหรือจากคนไทยเพียงอย่างเดียว อาจไม่ทันต่อการรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะกระทบต่อ GDP และความมั่นคงของประเทศในภาพรวม 

ดังนั้นการให้ความสำคัญกับทุกการเกิดในประเทศ หรือการนำเข้าแรงงานที่มีศักยภาพสูงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่รับมือกับปัญหาได้เร็วกว่า และไม่ว่าจะเลือกมาตรการใดเป็นมาตรการหลัก “รัฐบาล” ควรเป็นผู้ลงทุน เพื่อให้เกิดความครอบคลุม เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

 ที่ผ่านมา กรมอนามัย ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้ชีวิตคู่และการมีบุตร เพื่อพัฒนาศักยภาพคนโสดรุ่นใหม่ ให้มีทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้ชีวิตคู่และการมีบุตร ตลอดจนร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ตรงกับความต้องการของประชาชน โดยข้อเสนอดังกล่าวได้นำมากำหนดเป็นมาตรการทางเลือกให้กับรัฐบาลต่อไป

 

ที่มา : 

https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/110766/

https://tu.ac.th/thammasat-310165-crisis-thai-children-born-less

Image by rawpixel.com on Freepik