วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ปี 2566 พร้อมให้บริการ 7 กลุ่มเสี่ยง 1 พ.ค.นี้

กรมควบคุมโรค และ สปสช. ชวนผู้มีสิทธิบัตรทอง 7 กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ในปี 2566 เริ่ม 1 พ.ค. – 31 ส.ค. นี้ หรือจนกว่าวัคซีนฯ หมด เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ลดภาวะแทรกซ้อนเจ็บป่วยรุนแรง และเสียชีวิต พร้อมจับมือ ธนาคารกรุงไทย เปิดให้จองสิทธิฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้า เฉพาะที่กรุงเทพฯ ผ่านแอปฯ เป๋าตัง ได้ เริ่ม 17 เม.ย. นี้   

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล” เป็นสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (บัตรทอง 30  ให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนของกรมควบคุมโรค และโรงพยาบาล/สถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตได้จากโรคไข้หวัดใหญ่  

สำหรับในปีนี้ ได้ดำเนินการจัดเตรียมวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ปี 2566 สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทองที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กำหนดช่วงระยะเวลาการบริการวัคซีนฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 สิงหาคม 2566 หรือจนกว่าวัคซีนฯ หมด 

ส่วนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่นำมาฉีดให้กับประชาชนไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม สำหรับปีนี้ยังเป็นวัคซีนสายพันธุ์ซีกโลกใต้ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่ครอบคลุมการป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ (an A/Victoria/2570/2019 (H1N1) pdm09-like virus, an A/Darwin/9/2021 (H3N2)-like virus; และ a B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)-like virus.) มีประสิทธิผลในการป้องกันและช่วยเสริมภูมิคุ้มกันจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้ 

ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus)  มีการระบาดเป็นช่วง ๆ ในฤดูฝนและฤดูหนาว คนทั่วไปจะมีอาการไม่มาก เช่น มีไข้สูง มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ ส่วนใหญ่จะหายได้เอง 

แต่สำหรับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้ เช่น ปอดอักเสบหรือปอดบวม สมองอักเสบ ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงนี้ นอกจากนั้นยังลดความสับสนการตรวจวินิจฉัยโควิด-19 ที่มีรายงานพบผู้ป่วยต่อเนื่อง และช่วยลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ พร้อมขอย้ำว่า ปีนี้วัคซีนฯ มีจำนวนจำกัด ดังนั้นใครที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ควรรีบมาฉีดวัคซีนฯ โดยเร็ว ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ก่อนที่วัคซีนฯ จะหมดลง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว    

ย้ำ !! ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ที่ได้รับสิทธิในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 

1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 

2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 

3) ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค  คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 

4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 

5) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 

6) โรคอ้วน (น้ำหนัก > 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ

7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ทั้งนี้กรณีหญิงตั้งครรภ์นั้นมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้บริการตลอดทั้งปี     

นอกจากนี้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับบริการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สปสช. ได้ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด เปิดให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ย้ำว่าเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น สามารถจองสิทธิการฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้าผ่าน “กระเป๋าสุขภาพ” บนแอปพลิเคชัน เป๋าตัง ได้ โดยระบบ เป๋าตัง จะเริ่มเปิดให้จองสิทธิฉีดวัคซีนฯ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน – 31 สิงหาคม 2566 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด 

ส่วนผู้ที่อยู่ใน กทม. แต่ไม่สะดวกจองผ่านแอปเป๋าตัง สามารถโทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 8 เพื่อจองคิวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ นอกจากนั้นยังสามารถติดต่อได้ที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. และคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ หรือสถานพยาบาลตามสิทธิที่ท่านไปรักษาเป็นประจำ แนะนำให้โทรนัดรับบริการล่วงหน้าก่อน เพื่อลดความแออัดในการเข้ารับบริการวัคซีน  

สำหรับผู้ที่อยู่ในต่างจังหวัดนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถจองผ่านแอปเป๋าตังได้ การจองนัดหมายเข้ารับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละหน่วยบริการ กรุณาติดต่อสอบถามการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการโดยตรง 

ขณะนี้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยงนั้น ให้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ส่วนสิทธิการรักษาอื่นรอประกาศอีกครั้ง  

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  

1.สายด่วน สปสช. 1330 

2.ช่องทางออนไลน์

  • ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
  • Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
  • ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw

ที่มา : กรมควบคุมโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพ

Image by Freepik, Image by kjpargeter on Freepik