คลื่นความร้อน…ภัยจากวิกฤติภูมิอากาศที่เป็นอันตรายถึงชีวิต 

Heat Wave (คลื่นความร้อน)

1.คลื่นความร้อน หรือ ฮีตเวฟ (Heat Wave) เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่อากาศร้อนมากกว่าปกติอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาหนึ่ง อาจเกิดเป็นเวลาไม่กี่วันหรือหลายสัปดาห์

2.นิยามของคลื่นความร้อน หมายถึง “ภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวันเกินค่าอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยในพื้นที่นั้นๆ ประมาณ 5 องศาเซลเซียสติดต่อกันอย่างน้อย 5 วัน” (องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก)

3.คลื่นความร้อน เกิดจาก 2 สาเหตุ 

      1) การสะสมความร้อน : เป็นคลื่นความร้อนที่เกิดจากการสะสมความร้อนในพื้นที่ ไม่มีลมพัด อากาศแห้ง ไอร้อนสะสมจนเป็นคลื่นความร้อน

      2) การพัดพาความร้อน : เป็นคลื่นความร้อนที่เกิดจากลมที่หอบความร้อนมาจากพื้นที่อื่น เช่น ที่เกิดในยุโรป และแถบเมดิเตอร์เรเนียน

เหตุการณ์ผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อน ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ปี 2003: ทวีปยุโรปเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงซึ่งกินเวลานานหลายสัปดาห์ โดยมีอุณหภูมิเกิน 40°C ในหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70,000 ราย ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,082 ราย ตามมาด้วยเยอรมันที่มีผู้เสียชีวิต 7,000 ราย และสเปนที่มีผู้เสียชีวิตประมาณ 4,200 ราย  

ปี 2010: หลายประเทศในซีกโลกเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศรัสเซียเกิดคลื่นความร้อนรุนแรง โดยมีอุณหภูมิสูงถึง 44.0 °C  ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 55,000 ราย

ปี 2022: ยุโรปเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงอีกครั้ง  อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 61,000 ราย 

ผลกระทบจากคลื่นความร้อนต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ 

อุณหภูมิที่สูงขึ้นก่อให้เกิดการสูญเสียน้ำในร่างกาย ส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคที่สัมพันธ์กับความร้อน (Heat-related illness) เช่น

  • ผื่นจากความร้อน
  • ตะคริวจากความร้อน
  • ฮีทสโตรค หรือลมแดด
  • โรคเพลียแดด
  • หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ร่างกายขาดน้ำ
  • ช็อก หัวใจวาย
  • สุขภาพจิต (หงุดหงิด ส่งผลต่ออารมณ์)

กลุ่มเสี่ยง

  • ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย ผู้ใช้แรงงาน ก่อสร้าง เกษตรกร 
  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ 
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง 
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน
  • ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ 

ประเทศไทย กับ คลื่นความร้อน…

  ที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับภาวะความร้อนจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะอุณหภูมิสูงสุด ที่มีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย (ช่วงปี พ.ศ. 2534 – 2563) โดยพบว่า ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เกิดปรากฎการณ์คลื่นความร้อนในหลายจังหวัดบริเวณประเทศไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ หนองคาย เลย อุดรธานี นครพนม สกลนคร มุกดาหาร ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ ที่มีค่าอุณหภูมิสูงสุดสูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อเนื่องกันเกิน 5 วัน โดยมีค่าอุณหภูมิสูงสุด สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง +8.0 °C ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปรากฎการณ์คลื่นความร้อนในประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

#DCCE #คลื่นความร้อน 

#กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม #สาระดีสตอรี่ #saradeestory

ที่มา:https://www.facebook.com/share/p/5QbKxw5Tv4EbQ6vC/?mibextid=oFDknk