กรมอนามัยเตือน!! หน้าร้อนกินอาหารปรุงสุก ระวังอาหารบูดเสียง่าย 

กรมอนามัยเตือน!! ช่วงหน้าร้อน เลือกกินอาหารปรุงสุก ระวังอาหารบูดเสียง่าย 

กรมอนามัยเตือนช่วงหน้าร้อน อาหารบูดเสียง่าย เชื้อโรคเติบโตเร็ว ควรเลือกอาหารปรุงสุก ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หลีกเลี่ยงการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงหน้าร้อน ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงประมาณ 35-40° C บางพื้นที่อาจสูงถึง 43° C เหมาะกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส และขยายตัวเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว

หากเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ในอาหารก็จะทำให้บูดเสียง่าย ซึ่งโรคที่ต้องเฝ้าระวัง คือ โรคติดต่อจากอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคท้องร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด โรคไทฟอยด์และอหิวาตกโรค 

ทั้งนี้ หากต้องซื้ออาหารควรเลือกซื้อจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ เช่น ตลาดสดน่าซื้อ ตลาดนัดน่าซื้อ หรือร้านอาหาร แผงลอย ที่ได้มาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste)

โดยเลือกเนื้อสัตว์ อาหารทะเลที่สด ไม่มีสีและกลิ่นผิดปกติ เก็บในอุณหภูมิไม่เกิน 5° C สำหรับผู้ที่ซื้อจากรถเร่จำหน่ายอาหารหรือรถพุ่มพวง ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ และอาหารทะเลส่วนมากจะแช่น้ำแข็งในตู้แช่ซึ่งอุณหภูมิไม่เพียงพอ ทำให้เน่าเสียง่าย 

ส่วนอาหารปรุงสำเร็จที่บรรจุใส่ถุงพลาสติกไว้ สังเกตว่ามีฟองก๊าซเกิดขึ้นในถุงไม่ควรซื้อ หลีกเลี่ยงอาหาร หรือขนมที่มีส่วนผสมของกะทิ เนื่องจากบูดเสียได้ง่าย แนะนำให้เลือกกินอาหารปรุงสุกใหม่ 

หลีกเลี่ยงการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้หากกินอาหารร่วมกันควรใช้ช้อนกลาง โดยก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องส้วม ต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อลดสื่อนำโรคติดต่อจากอาหารและน้ำ

ทั้งนี้ วิธีสังเกตอาหารบูดเสีย ได้แก่ วันหมดอายุของอาหาร ที่ระบุไว้ข้างบรรจุภัณฑ์หากหมดอายุแล้วไม่ควรนำมารับประทาน กลิ่นของอาหารเปลี่ยนไป เช่น เหม็นเปรี้ยว เหม็นหืน ลักษณะของอาหารมีการเปลี่ยนแปลง เช่น แข็งเป็นก้อน แฉะ เหนียว แกงกะทิอาจข้น หนืด ติดช้อน มีฟอง รสชาติของอาหารที่เปลี่ยนไป พบสิ่งแปลกปลอมหรือสีของอาหารเปลี่ยนซึ่งอาจเป็นเชื้อราได้

ที่มา : กรมอนามัย

Image by Freepik