กรมอนามัยแนะวิธี “เช็กโซเดียม” ใน 1 วัน

กรมอนามัย แนะวิธี “เช็กโซเดียม” ใน 1 วัน ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม ไม่ควรทานอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีเช็กโซเดียมสำหรับประชาชน ใน 1 วัน ไม่ควรบริโภคเกิน 2,000 มิลลิกรัม คิดอย่างไร ให้ไม่งง ย้ำลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ตามหลัก 6: 6: 1 คือ น้ำตาล น้ำมัน ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน เกลือ ไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีกรมอนามัยเผยข้อมูลประเทศไทย เป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงที่สุด แนะวิธีการป้องกันโรคไตเริ่มต้นง่ายๆ แค่ลดการบริโภคโซเดียม ร่างกายคนเราไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ส่งผลให้ประชาชนอยากให้ช่วยขยายความ “กินโซเดียมไม่เกิน 2,000 ต่อวันนั้น คือ ประมาณเท่าไหร่? จะชั่ง ตวง วัด ได้อย่างไร?” ผ่านกระทู้ในหนังสือพิมพ์ กรมอนามัยจึงขอแนะนำวิธีเช็กโซเดียมใน 1 วัน เพื่อให้ประชาชนไม่สับสนและเข้าใจง่าย สำหรับดูแลสุขภาพตนเอง และคนรอบข้างเพื่อการมีสุขภาพที่ดี

         นายแพทย์สุวรรณชัย ได้แนะนำวิธีการป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมต่อวัน ในปริมาณที่มากเกินไป หรือ เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนี้

 1) เช็กเครื่องปรุงอาหาร 

โดยปกติการปรุงอาหาร มักจะใช้เครื่องปรุงหลากหลายชนิดเพื่อความอร่อยและกลมกล่อม 

ทั้งนี้ เครื่องปรุงแต่ละชนิดมีปริมาณโซเดียมที่แตกต่างกัน เมื่อเทียบปริมาณโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม จึงเท่ากับ เกลือ 1 ช้อนชา เทียบกับ น้ำปลา 4 ช้อนชา ซีอิ๊วขาว ซอสปรุงรส 6 ช้อนชา หรือซอสหอยนางรม 4 ช้อนโต๊ะ เป็นต้น แต่การปรุงอาหารในแต่ละครั้ง จะใส่เครื่องปรุงรส มากกว่า 1 ชนิด และอาหารบางชนิดอาจมีการเติมเครื่องปรุงรสต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับปริมาณโซเดียมในแต่ละวันเกินได้ 

 2) อ่านฉลากโภชนาการ 

ด้วยการสังเกตปริมาณโซเดียมบนบรรจุภัณฑ์ ทั้งแบบที่เป็นฉลาก GDA (Guideline Daily Amount) หรือฉลากหวาน มัน เค็ม เป็นฉลากนอกกรอบขนาดเล็กที่จะแสดงข้อมูลโภชนาการ โดยแสดงค่าพลังงาน (กิโลแคลอรี) น้ำตาล (กรัม) ไขมัน (กรัม) และโซเดียม (มิลลิกรัม) มาแสดงที่ฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ และจะระบุค่าร้อยละของที่ร่างกายให้ได้รับต่อวันด้วย 

หากบนฉลากระบุปริมาณโซเดียม 500 มิลลิกรัม คิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณที่ร่างกายได้รับต่อวัน ดังนั้น หากกินอาหารนั้นจนหมดร่างกายจะเหลือปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับอีกเพียง 1,500 มิลลิกรัม

ทั้งนี้ การระบุปริมาณโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม มีความชัดเจนในทางวิชาการเพื่อดูแลและป้องกันโรค 

สำหรับประชาชนการนับปริมาณโซเดียมที่ได้รับจากอาหารในแต่ละวันอาจเป็นเรื่องสลับซับซ้อน เช่น โซเดียมแฝงในอาหารบางชนิดที่ไม่สามารถระบุได้ หรือการปรุงอาหารในปริมาณมาก แบ่งกินหลายมื้อ หรือแบ่งกินหลายคน ก็จะช่วยแบ่งปริมาณโซเดียมปริมาณโซเดียมที่ได้รับออกไป กรมอนามัยจึงอยากขอให้ประชาชนหันมาใส่ใจในการปรับพฤติกรรมการบริโภค ลดการกินอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม ลดการปรุงอาหารรสจัด และเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง รวมทั้งเพิ่มการกินผักและผลไม้ เพิ่มการออกกำลังกายเพื่อการมีสุขภาพที่ดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ที่มา : กรมอนามัย https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/200366/